สงครามโลกครั้งที่ 1 และความล้มเหลวของรัฐเสรีนิยม (ค.ศ. 1915-1922) ของ ราชอาณาจักรอิตาลี

บทนำสู่สงครามจากภาวะวิกฤตภายในชาติ

ในระหว่างหนทางสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาณาจักรเผชิญกับปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากมายในการกำหนดพันธมิตรและเป้าประสงค์ของชาติ ความสำเร็จในการเข้ายึดครองลิเบียจากจักรวรรดิออตโตมันซึ่งเป็นผลจากสงครามอิตาลี-ตุรกีได้จุดประกายความตึงเครียดภายในกลุ่มไตรภาคี เพราะทั้งจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีต่างพยายามที่จะหาลู่ทางในการกระชับความสัมพันธ์กับออตโตมันมาอย่างยาวนาน ในมิวนิก, ชาวเยอรมันตอบสนองต่อการรุกรานของอิตาลีด้วยการร้องเพลงที่เกี่ยวกับการต่อต้านอิตาลี[37] ความสัมพันธ์ของอิตาลีกับฝรั่งเศสก็ย่ำแย่เช่นเดียวกัน ซึ่งทางฝรั่งเศสรู้สึกว่าถูกอิตาลีทรยศจากการที่อิตาลีสนับสนุนปรัสเซียในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ทำให้เป็นไปได้ที่อิตาลีและฝรั่งเศสจะก่อสงครามต่อกัน[38] ทางฝากความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรก็ไม่ค่อยจะสู้ดีนักจากการที่นักชาตินิยมอิตาลีเรียกร้องสถานะความสำคัญของอิตาลีบนเวทีโลกหลังจากการเข้ายึดครองลิเบีย และยังเรียกร้องให้นานาประเทศยอมรับถึงการมีอยู่ของการมีอิทธิพลเหนือแถบแอฟริกาตะวันออกและเมดิเตอร์เรเนียน[39]

แผนที่แสดงถึงอิตาลีและอาณานิคมในครอบครองช่วงระหว่างการปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พื้นที่ระหว่างดินแดนของอิตาลีกับอียิปต์ของอังกฤษ ซึ่งอยู่ทางใต้ของไซเรไนคาอันเป็นแคว้นหนึ่งของอิตาเลียนลิเบีย ที่มีข้อพิพาทในการครอบครองระหว่างอิตาลีและอังกฤษ

ทางฝากของเมดิเตอร์เรเนียน ความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีกับราชอาณาจักรกรีซเป็นไปด้วยความย่ำแย่ เมื่ออิตาลีเข้ารุกรานและครอบครองหมู่เกาะที่ชาวกรีกอาศัยอยู่นามว่าโดเดคะนีส ซึ่งรวมไปถึงเกาะโรดส์ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1912 - ค.ศ. 1914 โดยที่หมู่เกาะเหล่านี้เคยตกอยู่ภายใต้การครอบครองของจักรวรรดิออตโตมัน อิตาลีและกรีซยังบาดหมางกันอย่างเปิดเผยในกรณีของความพยายามในการเข้ายึดครองแอลเบเนีย[40] พระเจ้าเอ็มมานูเอลที่ 3 ซึ่งพระองค์ไม่ทรงถนัดใจในการแสวงหาอาณานิคมซึ่งอยู่ไกลออกไป ตรัสว่าอิตาลีควรเตรียมตัวในการนำดินแดนที่ชาวอิตาลีอาศัยอยู่กลับคืนมาจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เพื่อทำให้ อิตาลีรวมกันได้อย่างสมบูรณ์ (อิตาลี: Completamento del Risorgimento)[41] และแนวคิดนี้เองที่ทำให้ความสัมพันธ์กับออสเตรีย-ฮังการีเกิดความหยุดชะงักขึ้น

อุปสรรคสำคัญของอิตาลีในการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกสงครามก็คือความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศปี ค.ศ. 1914 ซึ่งภายหลังการจัดตั้งคณะรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิโอ ซาลันดรา ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน รัฐบาลพยายามจะเอาชนะแรงสนับสนุนของกลุ่มชาตินิยมและหันไปสนใจกับประเด็นสิทธิทางการเมือง[42] ในขณะเดียวกันเองนักการเมืองฝ่ายซ้ายก็ถูกบีบคั้นอย่างหนักจากการที่รัฐบาลสังหารนักต่อต้านเผด็จการทหาร 3 คนในเดือนมิถุนายน[42] ทำให้ฝ่ายซ้ายหลากหลายกลุ่มอันประกอบด้วย กลุ่มสังคมนิยม, กลุ่มสาธารณรัฐนิยม และกลุ่มอนาธิปไตยนิยม ต่างก่อการประท้วงและพรรคสังคมนิยมแห่งอิตาลีก็ประกาศนัดหยุดงานประท้วงขึ้นทั่วประเทศ[43] การประท้วงซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ สัปดาห์แดง (อิตาลี: Settimana rossa) ที่ฝ่ายซ้ายได้ต่างพากันก่อการดื้อแพ่งไปถึงเกิดเหตุจลาจลตามหัวเมืองน้อยใหญ่ทั่วอิตาลี เช่น การบุกยึดสถานีรถไฟ, การตัดสายโทรศัพท์ และการเผาทำลายสำนักทะเบียนจัดเก็บภาษี[42] อย่างไรก็ดีสองวันถัดมาจึงมีการประกาศยุติการประท้วงอย่างเป็นทางการ แม้ว่าการจลาจลยังคงดำเนินไปก็ตาม กลุ่มเผด็จการทหารนิยม, กลุ่มชาตินิยม ยังคงต่อสู้กับกลุ่มฝ่ายซ้ายกันตามท้องถนน จนกระทั่งกองทัพบกได้เข้ารักษาความสงบด้วยการส่งกองกำลังนับพันนายเข้าควบคุมกลุ่มผู้ประท้วงหลากหลายฝ่าย[42] ตามมาด้วยการรุกรานเซอร์เบียของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในปี ค.ศ. 1914 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ได้ปะทุขึ้น แม้ว่าอิตาลีจะประกาศจนอย่างเป็๋นทางการถึงการเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิเยอรมันในฐานะประเทศสมาชิกกลุ่มไตรภาคี แต่ในช่วงเริ่มต้นกลับวางตัวเป็นกลางโดยอ้างว่ากลุ่มไตรภาคีมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการป้องกันตนเองเท่านั้น

กาเบรียล ดานันซิโอ, นักปฏิวัติชาตินิยมคนสำคัญ ผู้สนับสนุนให้อิตาลีเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในอิตาลี มุมมองของประชาชนต่อสงครามต่างแตกออกเป็นฝั่งเป็นฝ่าย ฝ่ายสังคมนิยมโดยมากแล้วต่างพากันต่อต้านสงครามและสนับสนุนแนวคิดการต่อต้านความรุนแรง ในขณะที่ฝ่ายชาตินิยมกลบสนับสนุนสงครามอย่างแข็งขัน ตัวอย่างของผู้สนับสนุนให้อิตาลีเข้าร่วมสงคราม เช่น นักชาตินิยม, กาเบรียล ดานันซิโอ และลุยจิ เฟเดร์โซนี รวมถึงนักข่าวผู้ปิดปังแนวคิดนิยมมาร์กซิสต์ของตน, ผู้ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นนักชาตินิยมและผู้นำเผด็จการในอนาคต เบนิโต มุสโสลินี ก็เรียกร้องให้อิตาลีเข้าสู่สงคราม สำหรับเหล่านักชาตินิยมแล้ว อิตาลีจะต้องดำรงสัมพันธภาพกับกลุ่มมหาอำนาจกลางเอาไว้ เพื่อที่จะได้รับดินแดนในอาณานิคมของฝรั่งเศสในภายหลัง แต่สำหรับเหล่านักเสรี สงครามครั้งนี้คือโอกาสที่อิตาลีรอคอยมานานในการที่จะเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร และทวงคืนแผ่นดินที่มีชาวอิตาลีอาศัยอยู่มาจากออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการชาตินิยมอันยาวนานมาตั้งแต่การรวมชาติอิตาลี ในปี ค.ศ. 1915 ญาติของนักปฏิวัติและวีรบุรุษสาธารณรัฐนิยม จูเซปเป กาลิบาลดิ เสียชีวิตในสมรภูมิที่ฝรั่งเศส ที่ซึ่งมีทหารอาสาช่วยในการรบ เฟแดร์โซนิจึงได้ใช้หน่วยรำลึกในการประกาศถึงความสำคัญของการเข้าร่วมสงคราม และเป็นคำเตือนไปยังสถาบันกษัตริย์ถึงความแตกแยกที่ยังคงดำเนินไปอยู่ภายในอิตาลี

อิตาลีรอคอยเวลานี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1866 เวลาแห่งสงครามที่แท้จริงของเธอ ในการที่จะรู้สึกถึงความสามัคคีในห้วงเวลาสุดท้าย เริ่มต้นใหม่อีกครั้งโดยการกระทำที่เป็นเอกฉันท์และการเสียสละของลูกหลานของเธอ วันนี้ขณะที่อิตาลียังคงลังเล ชื่อของการีบัลดีซึ่งได้ถูกชำระให้บริสุทธิ์ด้วยเลือดอีกครั้ง ได้ตื่นขึ้นอีกครั้งเพื่อที่จะย้ำเตือนเธอว่าไม่สามารถจะเอาชนะการปฏิวัติซึ่งถูกรักษาไว้ด้วยการต่อสู้และการได้รับชัยชนะจากสงครามแห่งชาติของเธอ

– ลุยจิ เฟเดร์โซนี พ.ศ. 2458[44]

มุสโสลินีใช้หนังสือพิมพ์ของเขาที่ชื่อว่า อิลปอโปโลดิตาเลีย (ประชาชนแห่งอิตาลี) และใช้ทักษะเชิงโวหารอันช่ำชองของเขากระตุ้นเหล่านักชาตินิยมและพวกฝ่ายซ้ายหัวปฏิวัติให้สนับสนุนอิตาลีเปิดฉากเข้าสู่สงคราม เพื่อที่จะได้ทวงคืนดินแดนที่มีชาวอิตาลีอาศัยอยู่คืนมาจากออสเตรีย-ฮังการี โดยกล่าวว่า "พอแล้วสำหรับลิเบีย และต่อไปคือเทรนโตและตรีเยสเต[44]" เขากล่าวว่ามันเป็นภาระของนักสังคมนิยมทั้งหลายในการที่จะกำจัดราชวงศ์ขุนนางโฮเฮนซอลเลิร์นแห่งเยอรมนีที่เขาอ้างว่าเป็นศัตรูกับแรงงานทั่วทวีปยุโรป[45] มุสโสลินีกับพวกนักชาตินิยมอื่นๆ กล่าวเตือนรัฐบาลอิตาลีว่าจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามมิเช่นนั้นประเทศจะต้องพบกับการปฏิวัติรวมไปถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อกลุ่มนิยมสันติภาพและกลุ่มผู้วางตนเป็นกลาง[46] ต่อมาแนวคิดชาตินิยมฝ่ายซ้ายก็ได้ถือกำเนิดขึ้นทางภาคใต้ของอิตาลี นักชาตินิยมและสังคมนิยมนามว่าจูเซปเป เด เฟลิเซ จุฟฟรีดา มองว่าการเข้าร่วมสงครามมีความจำเป็นในการบรรเทาภาวะราคาขนมปังที่สูงขึ้นในภาคใต้ซึ่งทำให้เกิดความไม่สงบขึ้น นอกจากนี้เขาเองยังสนับสนุนสงครามปฏิวัติอิตาลีอีกด้วย[47]

ด้วยการสนับสนุนการทวงคืนพื้นที่จากออสเตรีย-ฮังการีอย่างเหนียวแน่นจากกลุ่มชาตินิยม อิตาลีจึงเริ่มเจรจากับกลุ่มไตรภาคีจนการเจรจาสำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 เมื่อสนธิสัญญาลอนดอน ได้ถูกลงนามกับรัฐบาลอิตาลี สนธิสัญญานี้รับรองสิทธิ์ของอิตาลีในการเรียกคืนดินแดนที่มีชาวอิตาลีอาศัยอยู่จากออสเตรีย-ฮังการีตามความต้องการ แม้แต่ดินแดนบนคาบสมุทรบอลข่านหรือดินแดนอาณานิคมของเยอรมันในแอฟริกา ข้อเสนอนี้ได้เติมเต็มความปรารถนาของนักชาตินิยมและนักจักรวรรดินิยมในอิตาลี รัฐบาลอิตาลีจึงได้เข้าร่วมกลุ่มไตรภาคีและสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีอย่างเต็มตัว

ในขณะที่ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการเข้าร่วมสงครามนี้เป็นไปอย่างกระจัดกระจาย อดีตนายกรัฐมนตรีโจวันนี โจลิตตี รู้สึกโกรธเกรี้ยวที่อิตาลีตัดสินใจเข้าร่วมสงครามต่อสู้กับอดีตพันธมิตรสำคัญในการป้องกันดินแดนอิตาลีอย่างออสเตรีย-ฮังการี เขาอ้างว่าอิตาลีจะประสบกับความล้มเหลวในสงคราม, คาดการณ์ถึงการก่อกบฏมากมาย, ออสเตรีย-ฮังการีเข้ายึดดินแดนอิตาลีเพิ่มมากขึ้น แล้วความล้มเหลวนี้จะทำให้เกิดความหายนะและความวุ่นวายตามมาจนทำให้สถาบันประชาธิปไตยแบบเสรีของประเทศและระบอบประชาธิปไตยเสรีอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องล้มสลาย[48]

ความพยายามในสงครามของอิตาลี

จอมทัพลุยจิ กาดอร์นา (ชายทางด้านซ้ายที่กำลังพูดกับนายทหารสองคน) ขณะตรวจเยี่ยมกองปืนใหญ่ของสหราชอาณาจักรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในช่วงแรกของนโยบายต่อต้านออสเตรีย-ฮังการีดูจะเข้าทางอิตาลี: กองทัพออสเตรีย-ฮังการีแผ่ขยายอาณาเขตจนปะทะชายแดนเซอร์เบียและรัสเซีย และกองทัพอิตาลีก็เหนือกว่ากองทัพออสเตรีย-ฮังการีในด้านจำนวนทหาร แต่ข้อได้เปรียบนี้กลับไม่เคยถูกนำมาใช้เนื่องจากผู้บัญชาการกองทัพอิตาลี ลุยจิ กาดอร์นา ยืนกรานว่าการเข้าเผชิญหน้ากับออสเตรียฮังการีในการยึดคืนที่ราบสโลวีเนียและกรุงลูบลิยานานั้นอันตรายเกินไป เพราะการบุกครั้งนี้กองทัพอิตาลีจะไม่สามารถเคลื่อนทัพไปได้ถึงพื้นที่ดังกล่าว หากแต่จะถูกสกัดกั้นไว้ให้ไปได้ไม่เกินกรุงเวียนนาซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี หลังจากที่อิตาลีเคยประสบความล้มเหลวถึงสิบเอ็ดครั้งในการบุกยึดกรุงเวียนนา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตมากมายเกินกว่าที่จะรับได้

เมื่อเข้าสู่สงครามอย่างเป็นทางการแล้ว สภาพภูมิศาสตร์เองก็เป็นอุปสรรคหนึ่งของอิตาลี เนื่องจากแนวเขตแดนกับออสเตรีย-ฮังการีนั้นมีสภาพเป็นเทือกเขาสูงชัน ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1915 จำนวนพลทหารอิตาลีตามแนวชายแดนมีกว่า 400,000 นาย ซึ่งมากกว่าของกองทัพออสเตรีย-ฮังการีรวมกับกองทัพเยอรมันรวมกันถึงสี่ต่อหนึ่ง[49] อย่างไรก็ตามการป้องกันทางฝั่งของออสเตรีย-ฮังการีก็ยังคงแข็งแกร่งแม้จะพบกับปัญหากำลังคนไม่เพียงพอ ออสเตรีย-ฮังการีจึงสามารถเหนี่ยวรั้งการเข้าโจมตีของอิตาลี[50] การบุกของอิตาลีตามเชิงเขาอัลไพน์และในสนามเพลาะดำเนินไปอย่างเชื่องช้า[51] พลทหารอิตาลีถูกฝึกมาอย่างไร้ประสิทธิภาพแตกต่างจากกองทัพออสเตรีย-ฮังการีและกองทัพเยอรมัน ปืนใหญ่ของอิตาลีเสียเปรียบปืนกลของออสเตรียฮังการีขณะที่กระสุนปืนมีไม่เพียงพอแก่กองทัพจนอยู่ในระดับอันตราย การขาดแคลนยุทโธปกรณ์นี้เองที่จะยังคงขัดขวางความพยายามในการเข้าบุกออสเตรีย-ฮังการี[50] บวกกับการสับเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ทหารโดยคำสั่งของกาดอร์นาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้บรรดานายทหารขาดความรู้ประสบกาณ์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง[52] ในปีแรกของสงคราม สภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ในสมรภูมิส่งผลให้เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคขึ้น ซึ่งคร่าชีวิตนายทหารอิตาลีไปเป็นจำนวนมาก[53] แต่แม้สถานการณ์จะดูเลวร้ายเช่นไรกาดอร์นาก็ยังคงเดินหน้าบุกออสเตรีย-ฮังการีต่อ ยุทธนาวีเกิดขึ้นระหว่างราชนาวีอิตาลี (เรจีอา มารีนา) และ ราชนาวีอิมพีเรียล (ออสเตรีย-ฮังการี) ด้านเรือรบของอิตาลีเป็นด้อยกว่ากองเรือของออสเตรีย-ฮังการีอยู่มากและสถานการณ์ยิ่งน่าหวาดหวั่นขึ้นเมื่อทางกองทัพเรือฝรั่งเศสและราชนาวีอังกฤษปฏิเสธการร่วมรบในทะเลเอเดรียติก เนื่องจากมองว้าอันตรายเกินไปจากการที่มีกองเรือราชนาวีอิมพีเรียลลอยลำอยู่อย่างหนาแน่น[53]

ทหารราบอิตาลีในปี ค.ศ. 1918 มากกว่า 650,000 นายเสียชีวิตในสมรภูมิรบของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ศีลธรรมตกต่ำลงในหมู่นายทหารอิตาลีผู้ซึ่งเคยใช้ชีวิตอย่างน่าเบื่อหน่ายเมื่อไม่ได้มาอยู่ในแนวหน้าของสมรภูมิ: พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เขาโรงหนังหรือบาร์แม้กระทั่งในช่วงที่พวกเขาลาพักร้อน อย่างไรก็ตามเมื่อการรบใกล้จะปะทุขึ้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกแจกจ่ายอย่างเสรีแก่นายทหารในการที่จะลดความตึงเครียดก่อนเข้าสู่สนามรบ และในการที่จะหลบหลีกจากความเบื่อหน่ายหลังการรบ นายทหารบางกลุ่มจึงได้ยอมทำงานเป็นซ่องโสเภณีชั่วคราว[54] ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับศีลธรรมในกองทัพ กองทัพอิตาลีจึงเผยแพร่คำปราศรัยชวนเชื่อถึงความสำคัญของสงครามต่ออิตาลี เพื่อที่จะได้มาซึ่งดินแดนแห่งเทรนโตและตรีเยสเตมาจากออสเตรีย-ฮังการี[54] คำปราศรัยบางชิ้นได้นำมาจากนักชาติยมคนสำคัญในสงครามอย่างกาเบรียล ดานันซิโอ ในช่วงของสงคราม ตัวของดานันซิโอเองก็ได้เข้าร่วมการโจมตีทางทหารในดินแดนออสเตรียตามแนวชายฝั่งทะเลเอเดรียติกจนเสียตาไปหนึ่งข้าง[55] ส่วนคำปราศรัยของผู้สนับสนุนสงครามคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง เบนิโต มุสโสลินี นั้นกลับไม่ได้รับการเผยแพร่จากรัฐบาล ซึ่งคาดเดาได้ว่าเป็นเพราะภูมิหลังด้านแนวคิดปฏิวัติสังคมนิยมในอดีตของเขา[54]

สถานการณ์ของรัฐบาลอิตาลีเลวร้ายลงอีกในปี ค.ศ. 1915 จากท่าทีที่นิ่งเฉยของกองทัพเซอร์เบียที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสู่รบกับออสเตรีย-ฮังการีมานานนับเดือน[56] รัฐบาลอิตาลีกล่าวหาว่าเป็นเพราะกองทัพเซอร์เบียวางตัวนิ่งเฉยต่อสงครามทำให้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีสามารถรวบรวมกองทัพเข้าต่อต้านอิตาลีได้สำเร็จ[57] กาดอร์นาสงสัยท่าทีของเซอร์เบียว่ากำลังเจรจายุติสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีและได้แสดงความคิดนี้ต่อรัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี ซิดนีย์ ซอนนิโน ผู้ที่ยืนกรานว่าเซอร์เบียเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือไม่ได้[57] ความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีและเซอร์เบียดำเนินไปอย่างเยือกเย็นเสียจนพันธมิตรอื่นในกลุ่มไตรภาคีถูกผลักดันให้ล้มเลิกความคิดในการที่จะจัดตั้งแนวหน้าที่บอลข่านเข้าสู้รบกับออสเตรีย-ฮังการี[57] ในการเจรจา ซอนนิโนยังคงเต็มใจที่จะให้บอสเนียรวมเข้ากับเซอร์เบีย แต่ปฏิเสธที่จะอภิปรายในชะตากรรมของดัลเมเชียซึ่งถูกอ้างกรรมสิทธิ์โดยอิตาลีและจากกลุ่มสถาปนารัฐแห่งชาวสลาฟในเซอร์เบีย[57] ขณะที่เซอร์เบียกำลังพ่ายแก่กองทัพออสเตรีย-ฮังการีและกองทัพเยอรมันในปี ค.ศ. 1915 กาดอร์นาเตรียมส่งกองหนุนจำนวน 60,000 นายไปยังเทสซาโลนีกีเพื่อช่วยชาวเซิร์บผู้หลีภัยอยู่ในกรีซและในราชรัฐแอลเบเนียต้านทานกับกองกำลังฝ่ายศัตรู แต่เพราะความรู้สึกขมขื่นของรัฐบาลอิตาลีที่มีต่อเซอร์เบียส่งผลให้แผนการดังกล่าวถูกปฏิเสธไป[57]

ภายหลังปี ค.ศ. 1916 สถานการณ์สำหรับอิตาลีเลวร้ายลงเรื่อยๆ กองทัพออสเตรีย-ฮังการีสามารถขับไล่กองทัพอิตาลีให้ถอยร่นกลับไปยังดินแดนอิตาลี กองทัพอิตาลีจึงไม่สามารถไปได้ไกลเกินกว่าเวโรนาและปาโดวา ในขณะเดียวกันอิตาลีต้องเผชิญกับการขาดแคลนเรือรบ, การโจมตีโดยเรือดำนำที่เพิ่มขึ้น, ค่าขนส่งที่สูงขึ้นทำให้บั่นทอนความสามารถในการส่งเสบียงของกองทัพ, การขาดแคลนวัตถุดิบและอุปกรณ์ และชาวอิตาลีเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงเพื่อใช้จ่ายในสงคราม[58] กองทัพออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมันได้บุกลึกเข้ามายังอาณาเขตของอิตาลี จนในที่สุดเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1916 กาดอร์นาได้ยุติยุทธการเชิงรุกแล้วเริ่มมาใช้ยุทธการเชิงรับแทน ในปี ค.ศ. 1917 ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ยื่นข้อเสนอช่วยเหลือด้วยการส่งกองกำลังเข้ามายังอิตาลีในการต้านท้านการบุกของฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่รัฐบาลอิตาลีปฏิเสธความช่วยเหลือดังกล่าวเนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศซอนนิโนไม่ต่างการเห็นอิตาลีตกเป็นรัฐบริวารของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ชื่นชอบแนวทางการโดดเดี่ยวมากกว่าเนื่องจากมองว่าเป็นทางเลือกอันกล้าหาญ[59] นอกจากนี้อิตาลียังต้องการที่จะกันราชอาณาจักรกรีซไม่ให้ข้องเกี่ยวกับสงคราม จากการที่รัฐบาลอิตาลีเกรงว่าเมื่อกรีซเข้าสู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วจะพยายามยึดเอาแอลเบเนีย ซึ่งอิตาลีต้องการเอาเข้าเป็นดินแดนของตน[60] โชคเข้าข้างอิตาลีเมื่อกลุ่มนิยมเวนิเซลอสซึ่งเป็นขบวนการทางการเมืองกลุ่มหนึ่งของกรีซล้มเหลวในการกดดันสมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 1 ให้นำประเทศเข้าสู่สงคราม ความพยายามยึดเอาแอลเบเนียของอิตาลีจึงยังไม่ถึงกับคว้าน้ำเหลว[60]

โฆษณาชวนเชื่อของอิตาลีซึ่งถูกโปรยในเวียนนาโดยกาเบรียล ดานันซิโอ ในปี ค.ศ. 1918

จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1917 จากการปฏิวัติรัสเซีย ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์บอลเชวิกขึ้นสู่อำนาจภายใต้การนำของวลาดีมีร์ เลนิน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแนวรบด้านตะวันออก ทำให้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมันเคลื่อนทัพปะทะแนวหน้าของอิตาลีได้ง่ายขึ้น เสียงคัดค้านการทำสงครามภายในอิตาลีมีมากขึ้นในขณะที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลงเรื่อยๆ อันเป็นผลจากความตึงเครียดของสงคราม ผลประโยชน์จากสงครามเกิดขึ้นกับเมืองหลักๆ ในขณะที่ชนบทของอิตาลีกำลังสูญเสียรายได้[61] จำนวนแรงงานชายในภาคเกษตรกรรมลดลงจาก 4.8 ล้านคนเหลือเพียง 2.2 ล้านคน แม้กระนั้นอิตาลีก็ยังสามารถรักษาระดับการผลิตไว้ได้ที่ร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในช่วงก่อนสงครามอันเนื่องมาจากแรงงานทดแทนจากผู้หญิง[62] นักนิยมสันติภาพและกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายหันไปสนับสนุนพรรคบอลเชวิกและสนับสนุนการเจรจากับแรงงานชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีเพื่อที่จะยุติสงคราม และเพื่อนำมาซึ่งการปฏิวัติบอลเชวิก อวันติ! (ก้าวหน้า!) ของพรรคสังคมนิยมอิตาลีประกาศว่า "ปล่อยให้ชนชั้นล่างได้ต่อสู้ในสงครามของตน"[63] บรรดาสตรีผู้นิยมฝ่ายซ้ายในเมืองทางภาคเหนือต่างนำการประท้วงเรียกร้องการแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงและเรียกร้องให้ยุติการทำสงคราม[64] เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1917 ในมิลาน นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์รวมกลุ่มกันและเกี่ยวข้องในการก่อความไม่สงบซึ่งเรียกร้องการสิ้นสุดลงของสงคราม ความไม่สงบเช่นการปิดโรงงานและการขัดขวางระบบคมมนาคมสาธารณะ[65] กองทัพอิตาลีจึงถูกบีบให้เข้าสู่เมืองมิลานพร้อมรถถังและปืนกลในการเผชิญหน้ากับนักสังคมนิยมและนักอนาธิปไตยนิยมผู้ซึ่งต่อสู้ด้วยความรุนแรงจนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม เมื่อกองทัพอิตาลีสามารถควบคุมความวุ่นวายของเมืองไว้ได้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 50 คนรวมถึงนายทหารเสียชีวิต 3 นาย และมากกว่า 800 คนถูกจับกุม[65]

แผนที่แสดงถึงสมรภูมิวิตตอริโอเวเนโต ที่ซึ่งอิตาลีมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือออสเตรีย-ฮังการีผู้รุกราน

หลังจากสมรภูมิกาโปเรตโตในปี ค.ศ.1917 กองทัพอิตาลีถูกตีแตกจนถอยร่นกลับเข้ามาในดินแดนของตน การเสียหน้าครั้งนี้นำมาซึ่งการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายวิตตอริโอ เอ็มมานูเอล ออร์ลันโด ผู้ซึ่งสามารถแก้ปัญหาในช่วงสงครามได้ในบางประเด็น ออร์ลันโดยกเลิกนโยบายโดดเดี่ยวตนเองและประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรมากขึ้น หันมาใช้ระบบขบวนเรือสินค้าเพื่อป้องกันการโจมตีโดยเรือดำนำฝ่ายศัตรู ทำให้อิตาลีสามารถยุติภาวะขาดแคลนเสบียงอาหารที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 ลงได้ รวมถึงยังได้รับวัตถุดิบจำเป็นหลายชนิดมาจากฝ่ายสัมพันธมิตรอีกด้วย[66] และในปีนั้นเองที่รัฐบาลอิตาลีเริ่มทำการปราบปรามบุคคลต่างด้าวฝ่ายศัตรูและชาวอิตาลีฝ่ายสังคมนิยม ต่อมารัฐบาลอิตาลีรู้สึกโกรธกริ้วเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ วูดโรว์ วิลสัน ได้ประกาศหลักการสิบสี่ข้อซึ่งสนับสนุนแนวทางการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของชาติต่างๆ ในยุโรป นั่นหมายความว่าอิตาลีจะไม่ได้รับดินแดนดัลเมเชียตามที่ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญาลอนดอน[67] ด้านนักชาตินิยมในรัฐสภาอิตาลีประณามหลักการสิบสี่นี้ว่าทรยศต่อสนธิสัญญาลอนดอน แต่ด้านนักสังคมนิยมกลับเห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องและชอบธรรม เพราะสนธิสัญญาลอนดอนเป็นสนธิสัญญาซึ่งริดรอนสิทธิ์ของชาวสลาฟ, ชาวกรีก และชาวแอลเบเนีย[67] การเจรจาระหว่างอิตาลีกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะรัฐบาลราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย (ประเทศที่ก่อตั้งใหม่แทนเซอร์เบีย) ตกลงที่จะให้มีการค้าขายระหว่างกันได้และดินแดนดัลเมเชียซึ่งอิตาลีอ้างกรรมสิทธิ์จะถูกยอมรับว่าเป็นดินแดนอธิปไตยของยูโกสลาเวีย เช่นเดียวกับที่ดินแดนอิสเตรียซึ่งยูโกสลาเวียอ้างกรรมสิทธิ์จะถูกยอมรับว่าเป็นของอิตาลี[68]

ณ สมรภูมิแม่น้ำปิอาฟว์ กองทัพอิตาลีสามารถต้านทานการบุกของกองทัพออสเตรีย-ฮังการีและกองทัพจักรวรรดิเยอรมันเอาไว้ได้ กองทัพศัตรูพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องในสมรภูมิหลักต่างๆ ในระยะหลังของสงคราม เช่น สมรภูมิอายาโกและสมรภูมิวิตตอริโอเวเนโต ซึ่งกองทัพอิตาลีสามารถตีกองทัพออสเตรีย-ฮังการีให้แตกพ่ายไปได้ในภายหลัง ออสเตรีย-ฮังการียุติการสู้รับกับอิตาลีจากการสงบศึกในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 นำมาซึ่งการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในช่วงสงครามกองทัพราชอาณาจักรอิตาลีมีขนาดใหญ่ขึ้นจากนายทหาร 15,000 นายในปี ค.ศ. 1914 มาเป็น 160,000 นายในปี ค.ศ. 1918 ส่วนจำนวนการเกณฑ์ทหารทั้งหมดตลอดช่วงสงครามคือ 5 ล้านนาย[52] ด้วยขนาดกองทัพอันใหญ่โตนี้นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายอันมหาศาล เมื่อสิ้นสุดสงครามอิตาลีสูญเสียนายทหารไปกว่า 700,000 นายและรัฐบาลมีงบประมาณขาดดุลที่หนึ่งหมื่นสองพันล้านลีรา สังคมอิตาลีแตกออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายผู้นิยมสันติภาพซึ่งเป็นคนส่วนมากของประเทศและต่อต้านการข้องเกี่ยวกับสงครามของอิตาลีมาโดยตลอด กับอีกกลุ่มคือกลุ่มนักชาตินิยมผู้สนับสนุนสงครามซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ พวกเขาประณามอิตาลีจากการที่ไม่เข้าร่วมสงครามต่อสู้กับออสเตรีย-ฮังการีอย่างทันทีในปี ค.ศ. 1914

การจัดการเรื่องดินแดนของอิตาลีและปฏิกิริยาตอบสนอง

จากซ้ายไปขวา; นายกรัฐมนตรี เดวิด ลอยด์ จอร์จ แห่งสหราชอาณาจักร วิตตอริโอ ออร์ลันโดแห่งอิตาลี ฌอร์ฌ เกลอม็องโซแห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐ

เมื่อสงครามดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด นายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลี วิตตอริโอ เอ็มมานูเอล ออร์ลันโด พบปะกับนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดวิด ลอยด์ จอร์จ, นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฌอร์ฌ เกลอม็องโซ และประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา วูดโรว์ วิลสัน ในแวร์ซาย โดยอภิปรายในเรื่องของการแบ่งเขตแดนยุโรปใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามครั้งใหม่ในอนาคตบนแผ่นดินยุโรป

การพบปะกันครั้งนี้ทำให้อิตาลีได้รับดินแดนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย เนื่องจากระหว่างการสนทนาในหัวข้อสันติภาพประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบอิสรภาพแก่ทุกเชื้อชาติในยุโรปได้จัดตั้งรัฐอธิปไตยของตนขึ้น ส่งผลให้ในสนธิสัญญาแวร์ซายไม่ได้ระบุมอบดัลเมเชียและอัลแบเนียแก่อิตาลีอย่างที่ได้รับสัญญาไว้ในสนธิสัญญาลอนดอน นอกจากนี้ด้านอังกฤษและฝรั่งเศสได้ตัดสินใจแบ่งดินแดนของจักรวรรดิอาณานิคมเยอรมันเข้าสู่อาณัติของตนอีกด้วย ทั้งที่อิตาลีไม่ได้รับดินแดนเพิ่มตามที่ตกลงกันไว้ นายกรัฐมนตรีวิตตอริโอก็ยังคงลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายซึ่งก่อให้เกิดจลาจลต่อต้านรัฐบาลของเขา ความไม่สงบปะทุขึ้นในอิตาลีระหว่างนักชาตินิยมผู้สนับสนุนสงครามและต่อต้าน ชัยชนะเฉียบขาด (ตามที่นักชาตินิยมเรียกขาน; แนวคิดชาตินิยมอิตาลีในการต่อต้านการละเลยข้อตกลงสนธิสัญญาลอนดอนของกลุ่มไตรภาคี) และฝ่ายซ้ายผู้ต่อต้านสงคราม

กาเบรียล ดานันซิโอ นักปฏิวัติชาตินิยมคนสำคัญ รู้สึกหงุดหงิดใจเป็นอย่างมากจากข้อตกลงสันติภาพที่แวร์ซาย จึงนำบรรดานักชาตินิยมอื่น ๆ ร่วมก่อตั้งเสรีรัฐฟีอูเมในเดือนกันยายน ค.ศ. 1919 ความนิยมในตัวเขาของเหล่านักชาตินิยมทำให้เขาถูกขนานนามว่า อิลดูเช (ท่านผู้นำ) และเขาใช้กองกำลังชุดดำเข้ายึดครองฟีอูเม ด้วยวาทกรรมการเรียกชื่อผู้นำ ดูเช และกองกำลังชุดดำนี้เองที่ต่อมาจะตรงกันกับของขบวนการฟาสซิสต์นำโดยเบนิโต มุสโสลินี เสียงเรียกร้องต่อการเข้ายึดคืนฟีอูเมแพร่กระจายไปทุกฟากฝั่งการเมืองรวมถึงขบวนการฟาสซิสต์ของมุสโสลินีด้วย[69] คำปราศัยอันน่าตื่นเต้นของดานันซิโอสามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากนักชาตินิยมโครเอเชีย นอกจากนี้เขายังได้ติดต่อกับกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์และกลุ่มนักชาตินิยมอียิปต์[70]

ชาวเมืองฟีอูเมสนับสนุนกาเบรียล ดานันซิโอและกลุ่มนักชาตินิยมผู้บุกรุก เดือนกันยายน ค.ศ. 1919

ใกล้เคียง

ราชอาณาจักรอิตาลี ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513) ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946) ราชอาณาจักรลิเบีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรนาวาร์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรมาเกโดนีอา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ราชอาณาจักรอิตาลี http://www.axishistory.com/index.php?id=37 http://www.germaniainternational.com/images/bookgi... http://www.germaniainternational.com/images/bookgi... http://books.google.com/books?id=MTWM6PjNvBMC&pg=P... http://www.spiritus-temporis.com/june-1934/ http://www.law.fsu.edu/library/collection/Limitsin... http://greatoceanliners.net/rex.html http://historicalresources.org/2008/09/17/mussolin... http://historicalresources.org/2008/09/19/mussolin... http://www.royin.go.th/th/webboardnew/answer.php?G...